เผยพระสุขภาพแย่ แนะชาวพุทธตักบาตรด้วยอาหารสุขภาพ


ทั้งหวาน-เค็ม-มันจัด พระชี้เลือกไม่ได้

           สสส.เผยผลวิจัยพระฉันอาหาร ทั้งหวาน-เค็ม-มันจัด พระชี้เลือกไม่ได้   เรียกร้องชาวพุทธตักบาตรด้วยอาหารเพื่อสุขภาพ

          นาย สุวัฒสัน รักขันโท อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เปิดเผยว่า หลังจากได้ศึกษาวิจัยเรื่องพฤติกรรมดูแลสุขภาพตนเองของพระภิกษุในเขตภาคใต้ ตอนบน หนึ่งในโครงการที่ได้รับทุนจากแผนสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไปและนวัต กรรม(สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า การทำบุญของพุทธศาสนิกชนไทย มีส่วนสำคัญต่อสุขภาพของพระภิกษุ และยังพบด้วยว่า พระสงฆ์ร้อยละ 26-38 มีพฤติกรรมการเสพสิ่งเสพติดหรือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาทิ พระสงฆ์มากกว่า 50% ยังคงสูบบุหรี่ บางรูปรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอลครั้งละ 6 เม็ด ดื่มกาแฟวันละ 8 ถ้วย และดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเกินกว่า 2 ขวดต่อวันด้วย

          นาย สุวัฒสัน กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่ากังวลอีกประการหนึ่ง คือพระสงฆ์ส่วนใหญ่ดื่มน้ำสะอาดไม่ถึงวันละ 6 แก้ว ฉันภัตตาหารที่มีรสจัด หวานจัด มีแป้งและไขมันสูง ทำให้มีอัตราการเจ็บป่วยสูงตามไปด้วย นอกจากนี้ยังออกกำลังกายน้อย ส่วนใหญ่เป็นการออกกำลังกายตามกิจวัตรของพระสงฆ์เท่านั้น ซึ่งการอยู่ในสมณะเพศ อาจจะไม่เหมาะที่จะออกกำลังกายเหมือนคนทั่วๆ ไป แต่ถ้าทำตามกิจวัตรของพระ ก็จะช่วยได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะเคยชินกับกิจวัตร เช้าเอน เพลนอน ฉันบ่าย

          ด้าน พระมหาขนบ สหายปัญฺโญ พระอาจารย์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ห้องเรียนสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ตามพระธรรมวินัยแล้ว พระสงฆ์ไม่สามารถเลือกรับการถวายจากพุทธศาสนิกชนได้ แต่เลือกฉันได้ ดังนั้น การฉันอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จึงขึ้นอยู่กับพระสงฆ์แต่รูปมากกว่า ว่าคำนึงถึงสุขภาพตนเองมากน้อยเพียงใด

          ขณะ ที่นพ.อำนาจ ศรีรัตนบรรณ กรรมการแผนสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม สำนัก 6 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การที่พระสงฆ์ฉันอาหารประเภทรสจัดทั้งหลาย จะเป็นบ่อเกิดของโรคมากมาย เช่น อาหารหวานจัด เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอ้วน ไขมันในเส้นเลือดสูง เป็นต้น ถ้ารับประทานอาหารเค็มจัด อาจจะเป็นสาเหตุของโรคไต โรคความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ โรคหัวใจ และอาการผื่นแดงคันตามร่างกายที่บางครั้งเกิดขึ้นอย่างไม่มีสาเหตุ ส่วนอาหารมันจัด ถ้ารับประทานอย่างต่อเนื่องจะเสี่ยงต่อคลอเรสเตอรอลสูง ขณะเดียวในเพศชายอาจจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่ต่อมลูกหมากด้วย          

นพ.อำนาจ  เสนอ ว่า ถ้าไม่อยากเห็นพระภิกษุเจ็บป่วยมากยิ่งขึ้น ชาวพุทธทุกๆ คนต้องร่วมมือกัน อาจจะเริ่มจากแกนนำหลัก 3 ฝ่ายในชุมชน คือวัด โรงเรียน และชาวบ้านตั้งกลุ่มขึ้นมา ร่วมมือกันว่า ต่อไปนี้จะใส่บาตรแต่ของที่มีประโยชน์ต่อพระสงฆ์ ไม่ใส่บาตรอาหารที่มีมันจัด เค็มจัด และหวานจัด แต่จะเน้นไปที่อาหารเพื่อสุขภาพ มีผักมากๆ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับพระสงฆ์ โดยต้องเปลี่ยนทัศนคติในการทำบุญใหม่ ว่าถ้าการทำบุญดีต่อตัวเอง บุญนั้นต้องดีกับพระด้วย


ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น