การอนุรักษ์ทรัพยากรพืชพันธุ์สมุนไพร เริ่มมีคนหลายกลุ่ม หลายชุมชน หลายตำบล หลายอำเภอ และหลายจังหวัด ร่วมมือร่วมใจกันปลูกพืชสมุนไพร เช่น กลุ่มเครือข่ายรักษ์ม่อนยาป่าแดด จ.เชียงราย ดึงศักยภาพของหมอพื้นบ้านในชุมชนออกมา และชักนำความคิดของคนในชุมชนให้หันมาเห็นความสำคัญและปลูกพืชสมุนไพร กระตุ้นให้เกิดการบริโภคสมุนไพร
น.ส.พยอม ดีน้อย ตัวแทนเครือข่ายรักษ์ม่อนยาป่าแดด จังหวัดเชียงราย ยอมรับว่า บางพื้นที่ก็แห้งแล้งทำให้เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการปลูกพืชสมุนไพร แต่จากการที่คนในชุมชนร่วมกันสำรวจม่อนยาป่าแดด ตั้งแต่ปี 2550 พบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นม่อน ในภาษาเหนือ หรือเป็นดอยเขา ทำให้มีธาตุดินที่สมบูรณ์ที่สุด ก่อนที่จะช่วยกันคัดเลือกพันธุ์สมุนไพรที่จะปลูกป่าสมุนไพร ให้เหมาะสมกับพื้นที่
"ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า คนในชนบท ยังมีการใช้สมุนไพรอยู่มากกว่า ร้อยละ 80 และเมื่อลงพื้นที่เพื่อสำรวจการใช้สมุนไพรก็พบว่า คนในชุมชนยังพึ่งหมอยา ใช้สมุนไพรก่อนยาแผนปัจจุบัน" น.ส.พะยอม ขยายภาพให้ชัดเจน
เมื่อดูข้อมูลจากนักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้ ดร.อุษา กลิ่นหอม อาจารย์ ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มองว่า แม้จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 แต่การสนับสนุนยังไม่เต็มที่เท่าพืชเศรษฐกิจ และสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ สมุนไพรป่าเสี่ยงที่จะสูญพันธ์มาก ทั้งจากการบุกรุกป่าและการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น จากการสำรวจป่าสมุนไพรที่ภูผากูด พบว่าสมุนไพรเริ่มสูญพันธุ์เกือบ 80 ชนิด เช่น กระจ้อนเน่า ยางโดน ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ชาวบ้านใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน
สำหรับบทบาทของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งดูเรื่องการผลิตสมุนไพรให้ได้ปริมาณและคุณภาพดีเพียงพอกับความต้องการ ของผู้บริโภคในทุก ภาคส่วน นางสุภัทรา ชวประดิษฐ์ นัก วิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กลุ่มส่งเสริมการผลิตพืชสมุนไพร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การส่งเสริมให้เกิดการขยาย พืชสมุนไพร จนถึงการ กระจายการผลิต ถือเป็นบทบาทของกรม และจากการเก็บผลสำรวจชนิด ของสมุนไพร พบว่ามีกว่า 4,000 ชนิด มีการนำสมุนไพรไปใช้ประโยชน์ตามตำรับยาต่างๆ ที่ขึ้นทะเบียนกว่า 900 ชนิด ขณะที่สมุนไพรที่นิยมปลูกกันมีเพียง 53 ชนิด ส่วนสมุนไพรที่เหลือในการมาทำประโยชน์ก็เก็บได้จากป่า และส่วนหนึ่งมีการนำเข้าจากต่างประเทศ
จากฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรปี 2553 ของกรมส่งเสริมการเกษตร มีเกษตรกรที่ปลูกพืชสมุนไพร 11,192 ครัวเรือน มีเนื้อที่ปลูกพืชสมุนไพร 53 ชนิด โดยพืชสมุนไพรที่มีการปลูกเชิงการค้า ได้แก่ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร บัวบก ว่านหางจระเข้ พริกไทย และไพล เป็นต้น
สมุนไพรมีจำนวนมาก แต่ที่นิยมมีเพียงไม่กี่ชนิด ทำให้สมุนไพรจำนวนหนึ่งเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ เช่น ฮ่อสะพายควาย มีการใช้ในปริมาณน้อย ในอนาคตก็อาจจะสูญพันธุ์ ได้ หรือสมุนไพรบางอย่างเช่น รากย่านาง รากคนทา รากมะเดื่อชุมพรรากชิงชี่ รากท้าวยายม่อม และอัคคีทวาร ก็มีข้อจำกัดในการปลูก ใช้เวลาใน การเพาะพันธุ์นาน บางชนิดก็เป็นสมุนไพรที่ขึ้นตามธรรมชาติ แน่นอนว่าหากปล่อยย่อมสูญพันธุ์อย่างแน่นอน
วิธีการที่ดีที่สุดขึ้นอยู่กับคนในชุมชนจะต้องเป็นผู้อนุรักษ์ ดังนั้นการสร้างจิตสำนึกให้กับชุมชนเป็นเรื่องสำคัญส่วนภาครัฐต้องให้ความ รู้และเชื่อมโยงตลาดและประโยชน์สุดท้ายก็ จะคืนกลับสู่ชุมชน
แม้สมุนไพรจะไม่ใช่พืชหลักที่ทำรายได้สูง แต่ประโยชน์ของสมุนไพรถือว่าหาค่าไม่ได้ และบ่อยครั้งที่การคิดค้นยาสมัยใหม่ก็เกิดจากการสกัดมาจากสมุนไพร
หากคนไทยไม่ช่วยกันอนุรักษ์และช่วย กันต่อยอดพัฒนา ก็น่าเสียดายมรดกทางปัญญาของเรา
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น