แพทย์ ชี้สถานการณ์สุขภาพเด็กไทยใกล้วิกฤติ พบพฤติกรรมชอบนั่งๆ นอนๆ ดูทีวี วีดีโอ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ "เคาช์โปเตโต้" คุกคามหนัก ทำเด็กไทยเฉื่อย และเป็นโรคอ้วนมากถึงร้อยละ 8 จิตแพทย์หวั่นเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคร้ายในอนาคต แนะออกกำลังกายวันละ 1 ชั่วโมง
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า “เด็กไทยมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเป็น “เคาช์โปเตโต้” (couch potato) หรือ
คนที่เอาแต่นั่งๆ นอนๆ ดูทีวี วิดีโอ หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์
ไม่เคลื่อนไหวทำกิจกรรม ทำให้เป็นโรคอ้วน การศึกษาล่าสุดพบว่า
ในจำนวนเด็กไทยอายุ 2-18 ปี ทั่วประเทศ จำนวน 17.6 ล้านคน
มีเด็กที่เป็นโรคอ้วนมากถึงเกือบ 1.5 ล้านคน
กลุ่มวัยรุ่นเป็นโรคอ้วนมากที่สุด เนื่องจากขาดการออกกำลังกาย
จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคร้ายต่างๆ มากมายในอนาคต เช่น ความดันโลหิตสูง
หลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน รวมทั้งมีโอกาสที่จะมีปัญหาด้านบุคลิกภาพ
การสื่อสาร การเข้าสังคม และทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นด้วย
สาเหตุของพฤติกรรม “เคาช์โปเตโต้” มา
จากการที่เด็กดูโทรทัศน์ เล่นเกมวิดีโอหรือคอมพิวเตอร์มากเกินไป
พ่อแม่จำนวนมาก
โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเมืองใหญ่หลายคนคิดว่าการดูโทรทัศน์และเล่นคอมพิวเตอร์
เป็นการให้ความรู้และปลอดภัย แต่จริงๆ แล้วไม่ได้พัฒนาทางกายตามที่ควรเป็น
แขนขาไม่ได้ใช้งาน ขาดโอกาสที่จะได้ฝึกการโต้ตอบ
หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ทำให้พูดช้า เลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
สมาธิสั้น เป็นการบ่มเพาะพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดี ทำให้เกิดโรคต่างๆ
มากมาย
พญ.อัมพรกล่าว
ว่า ผลการสำรวจพบว่าเด็กไทยร้อยละ 67.8 เล่นอินเทอร์เน็ตเป็นประจำ
เฉลี่ยครั้งละ 2.42 ชั่วโมง ดูโทรทัศน์ 1-7 ชั่วโมงต่อวัน และ
มีเด็กจำนวนมากที่ดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมไปรับประทานอาหารไปจนอ้วน
หรือบางคนก็ไม่รับประทานอาหารเลยจนขาดสารอาหาร บางคนอารมณ์ฉุนเฉียว
ก้าวร้าว เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดจากภาวะเคาช์โปเตโต้
ควรมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เด็กโตไม่ควรใช้เวลาเกิน
1 ชั่วโมง เล่นเกมหรือดูทีวี เด็กเล็กไม่เกิน 30 นาที สถาบันการศึกษา
ครอบครัว ภาครัฐและเอกชน จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อป้องกันพฤติกรรมดังกล่าว
โรงเรียน
ควรเพิ่มเวลาออกกำลังกายหรือเรียนพลศึกษาในโรงเรียน
การจัดให้มีสนามเด็กเล่น ลานกิจกรรมและสันทนาการในชุมชนอย่างทั่วถึง
การใช้เวลากับครอบครัวอย่างมีคุณภาพ เช่น พ่อแม่ชวนกันทำงานบ้าน
ออกไปวิ่งเล่น ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกัน
เพื่อสุขภาพดีอย่างมีคุณภาพ
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า เด็กในวัยเรียนควรออกกำลังกายในระดับปานกลาง
เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ วันละ 60 นาที เพื่อให้มีสุขภาพดี
และผู้ใหญ่ทั่วไปวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน
เพื่อให้โครงสร้างและกล้ามเนื้อ ระบบประสาทอัตโนมัติ ระบบไหลเวียนโลหิต
ระบบหายใจ
ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายแข็งแรงและทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
รวมทั้งช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายได้เป็นอย่างดี
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น