สมุนไพรไทยในป่าเชียงเหียน

ยังคงมีอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทย ที่สมัยก่อนเคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลา อาหาร และสมุนไพรยารักษาโรค ที่ยังคงปรากฏให้เห็นได้จนถึงปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคือ พื้นที่บ้านเชียงเหียน ตำบลเขวา อำเภอเมือง จ.มหาสารคาม ที่เคยเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ และที่สำคัญไปกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าบ้านเชียงเหียนสามารถหารายได้เข้าหมู่บ้านได้ปีละหลายล้านบาท จากการขายยาสมุนไพรที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ จากพันธุ์ไม้ท้องถิ่นอีกด้วย


นี่จึงเป็นที่มาของ โครงการเปิดศูนย์เรียนรู้ป่าเชียงเหียน เพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชน ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ จาก การร่วมกับกันของมูลนิธิสุขภาพไทยและภาคีเครือข่าย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการให้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ระบบการแพทย์พื้นบ้าน อาหารท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าอีกด้วย

จาก การลงพื้นที่เพื่อศึกษาบ้านเชียงเหียนพบว่า ประชาส่วนใหญที่นี่มีอาชีพทำนา แต่ที่น่าสนใจคือ อาชีพเสริมที่ทำรายได้อย่างมหาศาลคือการขายสมุนไพร ซึ่งในปี 2549 มีการสำรวจพบว่าป่าแถวนี้เคยอุดมสมบูณ์ด้วยพันธุ์ไม้ถึง 160 ชนิด แต่หลงเหลืออยู่เพียง 60-70 ชนิดเท่านั้น เมื่อปี 2550 บรรดาหมอยาพื้นบ้านและหมอขายยา จึงร่วมกับชาวบ้าน ปลูกต้นไม้คืนให้แก่ป่า เพื่อในอนาคตพวกเขาต้องการให้ป่านี้เป็นคลังสมุนไพรสำหรับรักษาโรค ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาโบราณของผู้เฒ่าผู้แก่ของที่นี่

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องมีการอนุรักษ์ภูมิปัญญาโบราณเอาไว้ ด้วยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ภายใต้ “แผนงานสร้างเสริมระบบสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ” โดยทำงานรวมกับ 14 จังหวัด 4 ภูมิภาค ส่วนการดำเนินงานนั้นเราก็จะแบ่งออกเป็น 4 ด้าน เริ่มจาก 1.มีการพัฒนารูปแบบการใช้ประโยชน์ภูมิปัญญาตามบริบทวัฒนธรรมชุมชนและ บูรณาการระบบสุขภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการบริการของสาธารณสุข 2.บันทึกภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพเป็นข้อมูล ส่งเสริมการใช้ในชุมชนและพัฒนาระบบฐานข้อมูลดิจิตอล 3.สร้างเสริมความเข้มแข็งของเครือข่าย และสุดท้ายคือการร่วมอนุรักษ์และสร้างเสริมฐานทรัพยากรชุมชนอย่างยั่งยืน

เมื่อการทำงานมีแบบแผนขึ้นมา คณะกรรมการชุมชน ผู้นำชุมชน วัด โรงเรียนและชาวบ้านต่างเห็นพร้องต้องกันว่าควรจะมีการสร้างแหล่งเก็บรวบรวม เพราะพันธุ์และฟื้นฟูสมุนไพรขึ้นด้วยในพื้นที่ป่าโคกหนอง บ้านเชียงเหียน ภายใต้เนื้อที่กว่า 30 ไร่ จึงเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ป่าเชียงเหียนเพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชน ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ ที่วัดป่าประชาสโมสรบ้านเชียงเหียน จ.มหาสารคาม ซึ่งได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา

จาก ผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นที่พอใจ เพราะปัจจุบันชุมชนป่าเชียงเหียนมีตำรับยามากถึง 17 ตำรับ ไม่ว่าจะยาแก้โรคกระษัย บำรุงไต รักษาเบาหวาน บำรุงเลือด โรคกระเพราะอาหารและอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งยังเกิดเครือข่ายหมอยาสมุนไพร ทั้งผู้ขาย นักเรียน โรงเรียน แม้กระทั่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็เข้ามามีส่วนช่วยเหลือ เกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างมาก และที่สำคัญมีแหล่งเรียนรู้ที่ทุกคนในชุมชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่าง ยั่งยืน

นี่ถือเป็นอีกหนึ่งชุมชนตัวอย่างที่ใช้สอยภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ควรอนุรักษ์ได้อย่างคุ้มค่า และสามารถสร้างรูปแบบให้เกิดความยั่งยืนได้ พื้นที่ใดต้องการนำเป็นแบบอย่างสามารถไปศึกษาข้อมูลได้ที่ ศูนย์การเรียนรู้ป่าเชียงเหียนเพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชน ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ ที่วัดป่าประชาสโมสรบ้านเชียงเหียน จ.มหาสารคาม หรือติดตามโครงการดีๆ ของมูลนิธิสุขภาพไทยต่อได้ที่ http://www.thaihof.org นะคะ


เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ team content www.thaihealth.or.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น