แพทย์แผนไทย ชี้ กินอาหารไม่สมดุลเสี่ยงเป็นโรค


         ความรู้อันเป็นภูมิปัญญาไทย ที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษมายังลูกหลานสืบต่อมาในชีวิตประจำวันจนทุกวันนี้คือ ความรู้เรื่องสมุนไพร มีทั้งใช้ในครัวเรือนเป็นกับข้าวกับปลาที่แทรกอยู่ทุกมื้ออาหาร มีทั้งเป็นตำรับยาที่บำบัดโรคต่างๆ ซึ่งปัจจุบันได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งคนไทยเอง และชาวต่างชาติคือ...การแพทย์แผนไทย

            อาจารย์ กุสุมา ศรียากูล แพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอุปนายกสมาคมแพทย์อายุรเวทแผนไทยประยุกต์แห่งประเทศไทยให้นิยามความหมาย ของการแพทย์แผนไทยไว้ว่า เป็นกระบวนการทางการแพทย์เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย บำบัด รักษา ป้องกัน หรือส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ รวมถึงการผดุงครรภ์ การนวดไทย การเตรียมยา และผลิตยาแผนไทย โดยอาศัยความรู้ หรือตำราที่ถ่ายทอดและพัฒนาสืบต่อกันมา

            นอก จากนั้นยังมีการแพทย์แผนไทยแบบประยุกต์ ที่ผสมผสานความรู้ทางการแพทย์แผนไทย ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคลินิกเบื้องต้น โดยใช้ทักษะการซักประวัติ ตรวจร่างกาย วินิจฉัยแยกโรค รักษา ฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย รวมถึงส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันปัญหาสุขภาพ และให้คำแนะนำหรือส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

            ในตำราการแพทย์แผนไทยนั้นเริ่มต้นให้มองที่ ตัวเราเป็น สำคัญก่อน โดยร่างกายคนเราประกอบด้วยธาตุทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เรียกว่า ธาตุสมุฏฐาน หากธาตุทั้งสี่มีความสมดุลจะทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่หากธาตุทั้งสี่ไม่สมดุลก็จะเจ็บป่วย โดยแต่ละธาตุมีปัจจัยสำคัญในการควบคุมสุขภาพดังนี้คือ

            ธาตุดิน มีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพ 3 อย่างคือ หทัยวัตถุ อุทริยัง กรีสัง

            ธาตุน้ำ มีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพ 3 อย่างคือ ศอเสมหะ อุระเสมหะ คูถเสมหะ

            ธาตุลม มีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพ 3 อย่างคือ หทัยวาตะ สัตถกะวาตะ สุมนาวาตะ

            ธาตุไฟ มีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพ 3 อย่างคือ พัทธปิตตะ อพัทธะปิตตะ กำเดา

            อาจารย์ กุสุมาอธิบายว่า บางคนมักเจอปัญหาบ่อยๆ มักท้องอืดอยู่เสมอ ไปหาหมอก็ได้รับยาแก้ท้องอืดมากิน กินอยู่นั่นแล้วก็ยังเป็นอยู่ ซึ่งหาสาเหตุของการเกิดท้องอืดไม่พบ           หากมาพิจารณาด้านแพทย์แผนไทยจะให้ดูที่อาหารการกิน

            อาหารการกินที่ไม่สมดุลเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดโรคได้

            ลอง ย้อนกลับไปมองคนสมัยก่อนว่าเหตุใดจึงมีอายุยืนยาว แต่บางท่านอาจค้านว่าสมัยนี้คนเราอายุยืนกว่า หากพิจารณาให้ดีคนยุคนี้อายุยืนกว่าแต่ไม่มีความสุข อายุยืนแต่เป็นภาระต่อครอบครัว เป็นภาระต่อสังคม

            คน สมัยก่อนอายุยืนยาวนับร้อยปี ปัจจุบันมีแต่ต่างจังหวัดที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี กินอาหารที่มีประโยชน์ หลักการดังกล่าวนี้ถือเป็นแนวคิดประการหนึ่งของแพทย์แผนไทย

            นอกจากตัวคนเราที่กล่าวไว้ตอนต้นแล้ว สิ่งที่มีอิทธิพลประการถัดมาคือ อุตุหรือฤดูกาลที่ส่งผลกระทบมาถึงตัวคนเรา

            อิทธิพล ของฤดูกาลหรืออุตุสมุฏฐาน หมายถึง อิทธิพลของฤดูกาล แบ่งเป็นฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว ซึ่งมนุษย์ต้องปรับตัวตลอดเวลา ความร้อนความเย็นที่กายสัมผัสระหว่างรอยต่อแห่งฤดูกาลมีผลต่อสุขภาพอย่าง หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤดูร้อนมักเจ็บป่วยด้วยธาตุไฟ ฤดูฝนเจ็บป่วยด้วยธาตุลม และฤดูหนาวมักเจ็บป่วยด้วยธาตุน้ำ

            ช่วง รอยต่อของฤดูกาลที่กำลังเปลี่ยนแปลง เช่น จากหน้าร้อนในเดือนเมษายน พอเข้าสู่เดือนพฤษภาคมเริ่มมีฝน หากร่างกายปรับตัวตามไม่ทันกับช่วงรอยต่อแห่งฤดูกาลทำให้เกิดอาการครั่น เนื้อครั่นตัวหรือเจ็บป่วยได้
  
 ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น