เนื้อเน่า โรคจากแผลเล็ก ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม


เนื้อเน่า โรคจากแผลเล็ก ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม (e-magazine)

          เดี๋ยวนี้แผลเล็กน้อยนิดเดียว ก็มองข้ามไม่ได้ จะปล่อยให้แผลหายเองเหมือนที่เคยเป็นมาครั้งก่อน ๆ คงไม่ได้แล้ว เพราะอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

          หากได้ดูข่าวตามหน้าจอโทรทัศน์ หรือตามหนังสือพิมพ์ คงจะได้รับรู้ข่าว เรื่องราวของโรคที่คาดไม่ถึง ที่มีผู้จัดการธนาคารแห่งหนึ่งไปเลือกซื้อปลาทับทิมที่ตลาดสด ก่อนถูกเงี่ยงปลาตำนิ้วจนบวมอักเสบ ต่อมาเกิดสะดุดตกบันได ทำให้กล้ามเนื้อตาย ก่อนติดเชื้อในกระแสเลือดเสียชีวิต ซึ่งแพทย์ระบุว่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรียตระกูลแอโรโมแนส หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า แบคทีเรียกินเนื้อคน

          หรืออย่างกรณีล่าสุด ที่มีผู้ป่วยอีกรายที่เริ่มจากเกิดแผลผื่นคันขึ้นเล็กน้อยที่น่องซ้าย แต่ก็ปล่อยผ่านไปเพราะไม่คิดว่าเป็นอันตรายอะไร จนกระทั่งมีแมลงหวี่มาตอมแผล จึงตบแมลงหวี่ตายตรงแผลพอดี จนกลางดึกมีอาการไข้ขึ้น หนาวสั่น โชคดีที่ส่งโรงพยาบาลทัน

          ถึงได้บอกว่า แผลเล็ก ๆ ก็มองข้ามไม่ได้แล้ว เพราะแบคทีเรียสมัยนี้ร้ายแรงกว่าที่คิด
          สำหรับโรคที่เกิดจากแบคทีเรียที่อยู่ในแผล อย่างสองกรณีที่กล่าวไปนี้ คือ โรคเนื้อเน่า เป็นโรคติดเชื้ออย่างรุนแรงของผิวหนังและไขมันใต้ผิวหนัง อันที่จริงโรคนี้มีมานานแล้ว มีอัตราตายและพิการสูง พบมากที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักพบในเกษตรกรที่ทำไร่ทำนา ซึ่งมีโอกาสเกิดบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ และสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในดิน หรือในน้ำได้ง่าย

สาเหตุและอาการของโรคเนื้อเน่า

          โรคเนื้อเน่ามักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดร่วมกัน เช่น เชื้อสเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ (Streptococcus group A) เชื้อเคลปซิลล่า (Klebsiella) เชื้อคลอสตริเดียม (Clostridium) ที่ทำให้เกิดโรคบาดทะยัก เชื้ออี โคไล (E.coli) เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และเชื้อแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas hydrophila) เป็นต้น

          เชื้อ ที่พบบ่อยที่สุดคือสเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ โดยจะปวดแผลมาก แผลอักเสบบวม แดง ร้อนอย่างรวดเร็ว โดยอาการปวดจะรุนแรงมากแม้จะมีบาดแผลเล็ก ๆ ก็ตาม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ รวมทั้งมีไข้สูง ผิวหนังที่บาดแผลมีสีคล้ำ ม่วง ดำ หรือมีถุงน้ำเกิดขึ้น หากได้รับการตรวจรักษาที่รวดเร็ว โดยผ่าตัดเอาเนื้อที่เน่าตายออก และให้ยาปฏิชีวนะ จะลดอัตราตายและพิการลงได้

กลุ่มคนที่มีความเสี่ยง

           1. ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น เบาหวาน ไตวาย

           2. ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด

           3. ผู้สูงอายุ

           4. คนอ้วน

           5. ผู้ที่กินยาสเตรอยด์หรือยาชุด

           6. ผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ

           7. กลุ่มเกษตรกรที่ทำไร่ทำนา ซึ่งมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคได้ง่าย

          โดยกลุ่มคนที่ว่ามานี้ ต้องระวังอย่าให้มีบาดแผล หากมีบาดแผลก็จะต้องดูแลรักษาแผลให้สะอาด และหลีกเลี่ยงให้แผลโดนน้ำหรือดิน เพื่อไม่ให้แผลติดเชื้อลุกลามเป็นโรคเนื้อเน่า

ป้องกันโรคเนื้อเน่า

           1. ผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยง คือมีบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ นำมาก่อน เช่น มีดบาด ตะปูตำ หนามข่วน สัตว์ มดกัด เป็นต้น แล้วปล่อยปละละเลย ดังนั้น ผู้ที่มีบาดแผล แม้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ควรจะทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ และใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพรวิดีน

           2. ผู้ที่มีบาดแผล ควรระวังอย่าให้มีสิ่งสกปรกเข้าไปในบาดแผล โดยเฉพาะบาดแผลที่เกิดจากวัสดุที่สกปรก เช่น ตะปู หนาม ไม้ที่อยู่ในน้ำ ทิ่มแทง ควรรีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน และสังเกตอย่างใกล้ชิดหากมีไข้ บวม ปวดแผลมากขึ้นให้รีบปรึกษาแพทย์

           3. ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยกินอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ต่าง ๆ และผักผลไม้ เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

           4. ไม่ควรกินยาชุดหรือซื้อยาลูกกลอน ยาแก้ปวดเมื่อยกินเป็นประจำ เนื่องจากอาจมีสารสเตรอยด์ผสมอยู่ ซึ่งจะไปกดภูมิต้านทานของร่างกาย ทำให้ติดเชื้อง่าย ไตวายได้

          ไม่ใช่เพียงแค่คนเท่านั้นที่ต้องมีการพัฒนา เชื้อโรค แบคทีเรียก็มีวิวัฒนาการ พัฒนาความแข็งแกร่งของตัวมันเองให้ไม่แพ้คน ไม่แพ้ตัวยาที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นจำให้แม่นขึ้นใจเลยค่ะว่า แผลเล็กก็ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจส่งผลร้ายในระยะยาวถึงชีวิตได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น